เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายรังสรรค์ ศรีอนันต์ นักบริหาร 13 ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำกับดูแลโครงการท่าเรือสีขาว พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2566 ที่เป็นโครงการตามนโยบายของ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะทำงานกำกับดูแลโครงการท่าเรือสีขาว พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง
โดยมี พันตำรวจเอก สุรพันธ์ มั่นคงดี รองผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คณะทำงานฯ ผู้แทนหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ พร้อมด้วย พนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ผู้แทนจากศุลกากร และผู้แทนจากสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องแตรทอง 3 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง
สำหรับการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางตู้สินค้าภายในพื้นที่ของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือแหลมฉบังเกิน 45 วัน (List f) รวมถึง มาตรการและแนวทาง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ไม่ให้เกินมาตรฐาน
นายรังสรรค์ฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับดูแลโครงการท่าเรือสีขาวพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ตู้สินค้าตกค้าง สามารถดำเนินคดี ตามกฎหมายได้หรือไม่ โดยเรื่องดังกล่าว สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แจ้งว่า ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ หน้าที่ของคณะทำงานกำกับดูแลโครงการท่าเรือสีขาว พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการดำเนินการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดของพนักงานท่าเรือแหลมฉบัง โดยการตรวจสอบไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะแม้แต่รายเดียว รวมทั้ง คณะทำงานฯ ได้มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ที่ได้ดำเนินการติดตั้งสปริงเกอร์พ่นน้ำ ณ ประตูตรวจสอบของท่าเรือแหลมฉบัง และจะมีการเปิดศูนย์กำจัดและคววบคุมฝุ่นละออง pm 2.5 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
นายรังสรรค์ฯ กล่าวอีกว่า มติที่ประชุมในวันนี้ มีการเสนอให้ ท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ผู้แทนจากสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการจัดเตรียมข้อมูล แนวทางในการแก้ไขปัญหาตู้สินค้าตกค้างให้เร็วที่สุด
รวมถึงเรื่องของการตรวจสอบรถบรรทุกสินค้าที่น้ำหนักเกิน ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก จะมีการจัดเตรียมข้อมูล เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการนัดวันลงตรวจ พื้นที่ และจะเรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกำลังพล และบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าร่วมภารกิจของคณะทำงานฯ ต่อไป