เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการสัมมนา การแก้ไขปัญหาผลกระทบของประชาชน จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1.พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ 2.พลเอก นาวิน ดำริกาญจน์ 3.นายเจน นำชัยศิริ 4.นายวิรัตน์ เกสสมบูรณ์ 5.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ 6.นางสาววิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ และนางสาวชนิดา จันทรนคร ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคกลาง (ผู้แทนผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมการสัมมนา
โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ นางพรทิพา ทวีนุช ผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป พนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ผู้บริหาร ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนา ณ ศาลาประชาคมอ่าวอุดม
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการแบ่งกลุ่ม เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีประเด็นการหารือ 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ประเด็นการพัฒนา EEC อย่างยั่งยืน และแผนการพัฒนา ลดผลกระทบในระยะสั้น - ระยะยาว และร่วมหารือกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน
กลุ่มที่ 2 ประเด็นการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน และแผนการป้องกัน แก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาจากการก่อสร้าง ปัญหาการจราจร เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 ประเด็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง
รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวสรุปว่า ประเด็นปัญหาของกลุ่มที่ 2 ในเรื่องของปัญหาลานวางตู้สินค้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน และทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ รวมถึง ความไม่ปลอดภัยของประชาชนที่สัญจร ท่าเรือแหลมฉบังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ปัญหา โดยในระยะสั้น ท่าเรือแหลมฉบัง เทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมกับจังหวัดชลบุรี จะผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบลานวางตู้สินค้าและรถบรรทุกตู้สินค้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ท่าเรือแหลมฉบัง จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยบริหารเวลารถบรรทุกสินค้าเข้าออก หรือ Truck Queue เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึง การดำเนินการโครงการ Truck Parking ที่จะมีการจัดจุดบริการให้รถบรรทุกเข้าจอด เพื่อรอเข้าท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึง การพัฒนาลานวางตู้สินค้าในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ จะจัดการประชุมหารือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเส้นทางการจราจรที่มีจุดตัดทางถนน และทางราง รวมถึง จุดกลับรถต่างๆ ให้มีความสะดวก และปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทางมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นของกลุ่มที่ 3 ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย และชุมชนบ้านแหลมฉบัง นั้น ท่าเรือแหลมฉบัง ให้ความสำคัญถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้มีพื้นที่สำหรับชุมชนและสันทนาการ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ชุมชน และส่วนราชการ เพื่อสอบถามความต้องการของชุมชน รวมทั้ง สำรวจประชากรที่อาศัยในชุมชนบ้านแหลมฉบัง รับฟังข้อคิดเห็น และนำข้อมูลที่รวบรวมมาพิจารณาดำเนินการต่อไป