เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ต่อรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ การศึกษาและจัดทำรายงานขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 ณ ห้องประชุมโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา-แหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยมี นายสัญชัย ชนะสงคราม ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวต้อนรับ และนางสาวนัฐอนันตา จินดาพงศ์เจริญ ผู้อำนวยการกองแผนงาน เป็นผู้กล่าวรายงาน
นายสัญชัยฯ กล่าวเปิดงานว่า การประชุมในวันนี้จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นช่องทางในการร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินกิจกรรมของท่าเรือแหลมฉบัง การทำเรือแห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในต้านต่างๆ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลง หรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของท่าเรือฯ ในอนาคต ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนร่วม หมายถึง เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่นและเกิดประโยชน์ต่อประเทศ จึงขอให้ใช้เวทีแห่งนี้ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ นับได้ว่า ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและหาแนวทางร่วมกันในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ร่วมกับการพัฒนาโครงการได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เรือเอก กานต์ฯ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือชุด B ที่จะหมดสัมปทานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ดังนั้น ทางท่าเรือฯ จึงทำการศึกษาในเรื่องของแผนธุรกิจ ว่าจะมีรูปแบบอย่างไรต่อไป ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยน อาจจะทำให้รูปแบบธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปนั้น และไม่ตรงกับ EIA ที่มีการศึกษาเอาไว้ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้งว่าการดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจมีผลกระทบอย่างไรกับภาคเอกชนและสิ่งแวดล้อมบ้าง
สำหรับการดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือชุด B ซึ่งมีท่าเทียบเรือ 5 ท่า และจะหมดสัมปทานในเร็วๆ นี้ ดังนั้นการท่าเรือจึงต้องเร่งทำการศึกษาแบบธุรกิจ แต่ทางด้านกายภาพ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของท่า เช่น ความลึกก็ยังคงไว้ที่ 14 เมตร ในระดับน้ำทะเลปานกลางก็จะคงความลึกเช่นเดิม หน้าท่าก็จะมีความยาวรวมเท่าเดิม แต่ได้มีการศึกษาไว้ เช่น จะมีการแบ่งท่าเทียบเรือเดิม จำนวน 5 ท่า ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนขนาดของเท่า แต่จำนวนท่าอาจจะลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจ และสร้างรายได้ต่อการท่าเรือเพิ่มขึ้น
โดยจากการศึกษาเบื้องต้น จะลดจำนวนท่าจาก 5 ท่าเทียบเรือ เหลือจำนวนเท่าไรนั้น ขณะนี้รอประกาศจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีผลกระทบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ขออนุญาตไว้ตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงในฝั่งท่าเทียบเรือชุด B ในอนาคต จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆในพื้นที่ สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้น จะต้องดำเนินการ 2 ครั้ง เพื่อทำรายงานให้ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมทราบต่อไป
นางสาวนัฐอนันตาฯ กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดำเนินการควบคู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง การประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินกิจกรรมของโครงการ โดยหวังว่า เวทีนี้ จะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา และการดำเนินโครงการให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป