เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อยฯ ไปทัศนศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา เริ่มจากอาคารศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง ทรงฟังบรรยายเรื่องการบริหารจัดการ และแผนการพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบัง, การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังอย่างยั่งยืน รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของฮัทชิสัน พอร์ท ไทยแลนด์ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง เปรียบเสมือนประตูเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่มีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และ 2 ที่เปิดให้การบริการแล้ว โครงการพัฒนาที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลกที่สำคัญ และเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเล
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารท่าเทียบเรือชุดดี ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ทรงรับฟังการดำเนินงานธุรกิจท่าเทียบเรือ ของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 ปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือ 7 แห่ง ในท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ากว่า 35 ล้านตู้ โดยท่าเทียบเรือชุดดี เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้าท่ายาว 1.7 กิโลเมตร เมื่อแล้วเสร็จสามารถรองรับตู้สินค้าผ่านท่าได้ 3.4 ล้านตู้
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติงาน ที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานจากระยะไกล ใช้พลังงานไฟฟ้า และรถบรรทุกอัตโนมัติไร้คนขับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามเป้าหมายในปี 2593
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้นที่ 21 หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ทอดพระเนตรทัศนียภาพโดยรอบ 360 องศา ท่าเรือแหลมฉบัง และฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่แสดงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีการเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคตามโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก