ฟังวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง

ทลฉ. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย

     เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัยท่าเรือแหลมฉบัง ประจำปี 2566 ณ ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง

     โดยมีผู้บริหาร พนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ผู้แทนอำเภอศรีราชา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ศูนย์ควบคุมจราจรทางน้ำและความปลอดภัยทางทะเลฯ กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำ การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ชองชาติทางทะเล สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลตำบลบางละมุง เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย ผู้ประกอบท่าเทียบเรือ และผู้แทนจากหน่วยราชการ  เข้าร่วมการฝึกอบรมฯ ระหว่างวันที่ 22-31 สิงหาคม 2566

     สำหรับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและฝึกซ้อมการรักษา เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และ Washington State Partnership Program ซึ่งได้เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2547 และได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ และฝึกทักษะเกี่ยวกับการปฏิบัติ และการตอบโต้ในภาวะฉุกเฉินด้านสารเคมี (Chemical) เชื้อโรค (Biological) รังสี (Radioactivity) นิวเคลียร์ (Nuclear) วัตถุระเบิด (Explosive) การก่อการร้าย (Terrorism) รวมถึงเหตุการณ์กรณีน้ำมันหกรั่วไหลในทะเล (Oil Spill) ที่มีความจำเป็นต้องมีการทบทวน และฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมต่อการเผชิญเหตุอยู่เสมอ โดยในเบื้องต้นจะเป็นฝึกการทบทวน ขั้นตอนการปฏิบัติ ของสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเล และสารเคมีรั่วไหล ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษา ณ สถานพยาบาล

     โดยการดำเนินการด้านภาวะฉุกเฉิน จะมีการดำเนินตามข้อกำหนดของรตามข้อกำหนดของ International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code), อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ (MARPOL) และการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS Code)  ที่ออกโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) สำหรับการขนส่งของสินค้าอันตรายทางทะเล ผู้ใช้บริการการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานต่างๆ ต้องมีความพร้อมและความเข้าใจถึงข้อกำหนดดังกล่าว ให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนงานได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสินค้าอันตราย (Dangerous Goods Emergency Response) น้ำมันหกรั่วไหลในทะเล (Oil Spill Response) และมีความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนงานในการเข้าไปปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ก่อนนำไปเขียนเป็นแผนการปฏิบัติของแต่ละส่วนงานตามระบบบัญชาการในภาวะฉุกเฉิน ต่อไป

แชร์ต่อให้เพื่อน
LATEST POSTS