รายงานที่เผยแพร่ทางวารสาร Science Advances ระบุว่ายุงในเวียดนามและกัมพูชา ได้มีการกลายพันธุ์ที่ต่อต้านยาฆ่าแมลงประเภท ‘ไพรีทรอยด์’ สูงมากจนฆ่าพวกมันได้น้อยหรือฆ่าไม่ได้เลย นับเป็นกว่าร้อยละ 78 ของจำนวนประชากรยุงตัวอย่าง สร้างความกังวลว่ายุงกลายพันธุ์นี้จะเป็นพาหะของโรคที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น และชี้ให้เห็นว่ายุงมีการปรับตัวเช่นเดียวกับแมลงอย่างรวดเร็ว รายงานกล่าวว่ายาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งฆ่ายุงได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะที่อีกชนิดหนึ่งฆ่ายุงไม่ได้เลย ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้วควรฆ่าได้มากถึงร้อยละ 99
ชินจิ คาไซ (Shinji Kasai) ผู้เขียนงานวิจัยจากภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Institute of Infectious Disease, NIID) กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องตระหนักว่ายาฆ่าแมลงที่เราใช้ตามปกติอาจไม่ได้ผลกับยุง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเลือกยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการควบคุมยุง” และคาไซยังระบุว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น จีนและไทย ควรตรวจสอบด้วยว่ายุงในประเทศมีการดื้อยาด้วยหรือไม่
การค้นพบนี้อาจเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อโครงการควบคุมและกำจัดโรคติดเชื้อ เนื่องจากยุงนั้นเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เหลือง (Yellow Fever), ไข้เลือดออก, หรือไวรัสซิกา ซึ่งยุงพบได้ทั่วไปมากที่สุดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของโลก โดยส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานด้านสาธารณสุขแต่ละประเทศมักใช้สารเคมีที่เรียกว่า ‘ไพรีทรอยด์’ (pyrethroid) ควบคุมประชากรยุ่งเป็นหลัก
ที่มา: National Geographic Thailand