HOTSPOT
ศูนย์เรียนรู้การฝึกสติในโรงเรียนแห่งแรกของภูเก็ต เปิดแล้วที่ยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย

27 สิงหาคม 2561: โรงเรียนนานาชาติ ยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย (UWCT) เริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ในสัปดาห์ที่แล้วพร้อมพื้นที่แห่งใหม่ คือ ศูนย์เรียนรู้การฝึกสติที่ออกแบบเป็นการเฉพาะ โดยคำนึงถึงนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหลักของโรงเรียนในฐานะสถานศึกษาชั้นนำของภูเก็ตที่ให้ความสำคัญกับการฝึกสติ ซึ่งนักเรียน พนักงาน และผู้ปกครอง ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

“การฝึกสติเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษาใน UWCT และเราให้ความสำคัญมาโดยตลอด นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนเมื่อปี 2551  เราจึงกำหนดให้พื้นที่ของศูนย์ อยู่บริเวณทางเข้า เพื่อเป็นจุดแรกที่ผู้มาเยือนจะได้เยี่ยมชมและรับข้อมูล” เจสัน แมคไบรด์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย ได้กล่าวถึงศูนย์เรียนรู้ว่า “สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความมุ่งหมายของเราที่จะผนวกการฝึกสติไว้ในโรงเรียน โดยจัดสรรพื้นที่ให้กับการฝึกฝนโดยเฉพาะ”

ในแต่ละวัน ศูนย์จะมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นก่อนวัยเรียน จนถึงเกรด 12 มาเรียนรู้การฝึกสติ โดยนักเรียนจะได้ฝึก ‘การจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ด้วยความเมตตา และความใฝ่รู้’ ร่วมกับครูลูซี เคลเลอร์ ผู้แนะนำการฝึกสติของโรงเรียน 

นอกจากนี้ นักเรียนประจำที่อยู่ในหอพักของโรงเรียนนานาชาติ ยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย ยังได้ใช้พื้นที่ ทำสมาธิและฝึกโยคะ ในช่วงค่ำ เพื่อผ่อนคลายก่อนเวลานอนอีกด้วย

ครูลูซีเห็นว่า “การฝึกสตินี้ ช่วยให้นักเรียนได้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ได้ทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้นด้วยมุมมองที่เป็นบวก และตอบสนองอย่างผ่านการใคร่ครวญแล้ว  นักเรียนจะได้ตระหนักถึงการตอบสนองของตนเอง รูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจตนเอง จากความใฝ่รู้และความใส่ใจต่อสิ่งที่เป็นในขณะนั้น  เขาจะเริ่มเข้าใจว่า เขามีทางเลือก และสามารถใช้เวลาครุ่นคิดก่อนจะตัดสินใจ มากกว่าการพยายามตอบสนองทันทีกับความเครียดที่เกิดขึ้น 

การฝึกสติยังช่วยให้นักเรียนเกิดความเห็นอกเห็นใจในตนเอง และพัฒนาไปสู่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นต่อไป” 

โดยแท้จริงแล้ว หนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์ชื่อ ‘Altered Traits-Science Reveals How Meditation Changes Your Mind, Brain and Body (นิสัยที่เปลี่ยนไป - วิทยาศาสตร์เผยผลการเปลี่ยนแปลงจิดใจ สมอง และร่างกาย ด้วยการทำสมาธิ)’ ของแดเนียล โกลแมน และริชาร์ด เจ. เดวิดสัน ชี้ว่า การฝึกสมาธิและฝึกสติอย่างต่อเนื่อง มีผลเชิงบวกต่อเราถึงห้าประการ คือ: ช่วยให้เรารับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น, ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, ช่วยให้มีสมาธิและจดจ่อ,ช่วยให้ละวางความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง และให้ผลดีต่อสุขภาพหลายอย่าง ซึ่งรวมถึง เพิ่มความทนทานต่อความ

เจ็บปวด, ลดการปวดบวมและฮอร์โมนคอร์ทิซอล (ฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อมีความเครียด) และเพิ่มเอนไซม์เทโลเมเรสที่ยืดอายุเซลล์

การฝึกสติที่โรงเรียนนานาชาติ ยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย ไม่เพียงสนับสนุนนักเรียน แต่ยังผนวกอยู่ในวิธีการสอนของครูในโรงเรียน เพราะช่วยให้ครูได้จดจ่อกับปัจจุบัน ด้วยทัศนคติที่อาทร เมตตา และเปี่ยมด้วยความใฝ่รู้  บุคลากรของ UWCT ได้เข้าร่วมการฝึกฝนกับครูลูซี และวิทยากรท่านอื่นเป็นประจำ  เราสนับสนุนให้ครูสอดแทรกการฝึกสติไว้ในแต่ละวัน ด้วยช่วงเวลาสงบนิ่งตามความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนและหลังเหตุการณ์พิเศษ, การรับรู้ข่าวสารที่สำคัญ, การประเมินผลการเรียน หรือการสอบ

ในการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ ครูลูซีช่วยสนับสนุนครูท่านอื่น วางแผนการสอนที่แฝงแนวคิดการฝึกสติ  ระหว่างการทำแบบฝึกหัดและการสอบปลายภาค นักเรียนจะได้รับข้อสอบ พร้อมกำหนดเวลากิจกรรมการฝึกสติ ซึ่งจะมีการทำสมาธิก่อนและหลังการสอบ เป็นเวลาห้านาที และสิบห้านาที เพื่อผ่อนคลาย และเสริมสมาธิ จากนั้นก็เป็นการปลดปล่อยความเครียดหลังการสอบ  

ครูลูซียินดีที่มีศูนย์เรียนรู้เป็นสถานที่สอน แต่ครูยังมีบทบาทช่วยให้การฝึกสติแพร่หลายออกไปทั่วโรงเรียน ในทุกเวลาที่เหมาะสมตลอดวัน  วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ ใช้ช่วงเวลาตอนเช้า “เตรียมพร้อม (Time In)” ในระดับมัธยม และช่วงเวลา ‘ชุมนุมยามเช้า (Morning Meetings)’ ในระดับประถม

ครูลูซีอธิบายว่า: “ช่วงเวลา ‘เตรียมพร้อม (Time In)’ เป็นห้วงเวลาเว้นวรรค และพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น ด้วยความเมตตาและความใฝ่รู้’ ซึ่งเป็นกุศโลบายในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ด้วยการให้นักเรียนใช้เวลาอยู่กับปัจจุบัน ตระหนักรู้ และตอบรับต่อสิ่งที่ดำเนินอยู่  การฝึกสมาธิเช่นนี้ ทำให้นักเรียนมีพื้นที่ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมระหว่างวันอย่างมีสติยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ผลดีต่อชุมชนโดยรวม เพราะความเมตตาอยู่ในศูนย์กลางของสติ

กิจกรรม “ชุมนุมยามเช้า (Morning Meeting)” มาจากแนวคิดต้นแบบชั้นเรียนที่กระตือรือร้น (Responsive Classroom)  การชุมนุมทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และความเคารพ  การจัดสรรเวลาเมื่อเริ่มต้นวัน ให้นักเรียนได้จดจ่อกับการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยใช้การฝึกสมาธิและการฝึกสติ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน และการให้เวลาสานสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง”

โรงเรียนยังจัดช่วงเวลาการฝึกสติสำหรับผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ปกครองได้สนับสนุนนักเรียน UWCT ในการฝึกสติที่บ้าน  กิจกรรมการฝึกสติของโรงเรียนได้รับความสนใจและการเยี่ยมเยือนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกสติของโลกแล้วหลายท่าน รวมถึง แมทธิว ริคาร์ด ผู้เป็นทั้งภิกษุและนักเขียนที่ได้รับฉายา “ผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลก”  และ บี. อลัน วอลเลซ พุทธบริษัทนักวิชาการและวิทยากรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

วอลเลซ – ผู้ซึ่งมีผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือ ‘Altered Traits (นิสัยที่เปลี่ยนไป)’ - จะมาจัดสัมมนา เรื่องสี่มุมมองแห่งกรอบดุลยภาพจิต (four aspects of mental balance framework) ที่ UWCT เป็นเวลาสองวัน ในวันที่ 17 และ 18 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้า ถึงบ่ายสาม   บุคลากรทุกท่านของ UWCT จะเข้าร่วมการสัมมนา พร้อมทั้งนักเรียนมัธยมและผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง  ถือเป็นโอกาสดียิ่งของชาวภูเก็ต ที่จะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย และธัญญปุระ รีสอร์ทสุขภาพและกีฬา  ท่านที่สนใจเข้าร่วมสัมมนา โปรดติดต่อโรงเรียนโดยตรงทางอีเมล์ rsvp@uwcthailand.ac.th โปรดทราบว่าที่นั่งมีจำนวนจำกัด